วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

สิริมงคลอาบน้ำเพ็ญคืนลอยกระทง..หน้าโบสถ์มหาอุด วัดสมรโกฏิ กทม.




"วันลอยกระทง"ปีนี้ ตรงกับวันพฤหัสบดี ที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ เป็นเทศกาลสำคัญวันหนึ่งซึ่งชาวไทยทั้งประเทศตลอดจนชาวต่างชาติต่างก็รอคอยเพื่อร่วมงานอันชวนตื่นตาตื่นใจกับประเพณีที่สำคัญ



ในคืนวันเดียวกันนี้มีพิธีสำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งนิยมประกอบในวันเดียวกัน และกำลังเป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน เพราะเชื่อว่าเป็นพิธีที่ช่วยเสริมบารมีสะเดาะเคราะห์ เพิ่มพลังวาสนา นั่นคือ "พิธีอาบน้ำเพ็ญ"

แต่เดิมนิยมประกอบพิธีในเดือน ๓ ตรงกับวันมาฆบูชาของทุกๆ ปี ต่อมามีการจัดขึ้นในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เพราะถือเป็นวันที่สายน้ำทุกแห่งทั่วโลกมีความบริสุทธิ์ใสสะอาด ปีหนึ่งจะมีเพียงวันเดียวเท่านั้น



พิธีอาบน้ำเพ็ญ ปรากฏหลักฐานตามหนังสือพระราชพิธี ๑๒ เดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ความว่า

"วันนี้ ทางศาสนาพราหมณ์เรียกว่า ศิวาราตรี ตอนเช้าพวกพราหมณ์จะนำหม้อทองเหลืองเดินทูนศีรษะไปยังแม่น้ำคงคา นั่งตามริมฝั่งน้ำแล้วใช้หม้อตักน้ำขึ้นมาบริกรรมคาถา แล้วนำมาล้างหน้าบ้วนปาก ..จากนั้นก็กระโดดลงไปในแม่น้ำคงคา ดำลงไปในน้ำ 3 ครั้ง โกยดินตมที่อยู่ในน้ำมาฟอกถูตัวแทนสบู่แล้วจึงใช้น้ำชำระล้างถูตัวให้สะอาด เสร็จแล้วจึงเอาหม้อตักน้ำขึ้นมานุ่งผ้าให้เรียบร้อย เดินทูนหม้อน้ำมุ่งหน้าสู่เทวสถานเพื่อประกอบพิธีทางศาสนาต่อไป การปฏิบัติเช่นนี้ถือว่าได้อาบน้ำชำระบาปที่ได้ทำมาทั้งหมด"

สำหรับตำรับพิธีการอาบน้ำเพ็ญที่เลื่องชื่อ คือ การอาบน้ำเพ็ญของสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทัศน์ ซึ่งท่านจะอาบในวันเพ็ญเดือน ๑๒ เท่านั้น การอาบนั้นท่านจะให้อาบกลางแจ้ง โดยรอฤกษ์ที่พระจันทร์ลอยเด่นอยู่กลางศีรษะ

ในช่วงเวลานั้นจะพบว่าเงาของพระจันทร์จะลอยอยู่กลางขันน้ำมนต์พอดิบพอดี เพราะทุกครั้งที่พระจันทร์เต็มดวง แรงพลังอำนาจจากพระจันทร์จะทำให้น้ำในโลกถูกยกตัวสูงขึ้นกว่าธรรมดาทั่วไป ซึ่งว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องแปลกตามธรรมชาติ



เมื่อเป็นเช่นนี้ โบราณจารย์ จึงได้จัดพิธีอาบน้ำเพ็ญ ผู้ที่เข้าพิธีอาบน้ำเพ็ญมีคติความเชื่อสืบต่อกันมาว่า น้ำในวันนี้เกิดจากพลังเทพประทานพร น้ำทุกหยดมีเทพในภพในภูมิต่างๆ ประกอบกับน้ำทุกสายที่ไหลบ่ามาจากป่าเขาลำเนาไพร ล้วนไหลผ่านดงสมุนไพรนานาพันธุ์ สารพัดคุณสารพัดประโยชน์ที่สามารถช่วยบำบัดเยียวยารักษาโรคได้ทุกชนิด ทำให้ผู้ได้อาบและดื่มกินมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ผิวพรรณผ่องใส และอายุยืน

ส่วนพิธีอาบน้ำเพ็ญ ที่ถือปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน มักเป็นพิธีที่ถูกผสมผสานระหว่างศาสนาพราหมณ์กับพุทธ เพื่อให้เกิดพลังความเข้มขลัง เช่น มีการสร้างวัตถุมงคล พร้อมทั้งได้อาราธนาพระวิปัสสนาจารย์ผู้ทรงสมาธิคุณ เป็นที่เคารพนับถือของพุทธศาสนิกชนทั่วไป จากทั่วประเทศมาร่วมนั่งบริกรรมพระคาถานั่งปรกอธิษฐานจิตปลุกเสกให้วัตถุมงคล

มีคติความเชื่อว่า น้ำที่นำมาเข้าพิธีบังเกิดความศักดิ์สิทธิ์ คล้ายกับงานพุทธาภิเษกพระเครื่องทั่วๆ ไป เพื่อให้ผู้ที่เข้าร่วม พิธีอาบน้ำเพ็ญ เกิดกำลังใจกล้าที่จะละชั่วทำแต่ความดี เสริมสร้างบารมีให้แก่ตนเองตลอดไป



สำหรับสิริมงคลอาบน้ำเพ็ญนั้น เนื่องด้วยวันสำคัญในทางศาสนาพุทธ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในวันขึ้น  ๑๕ ค่ำ หรือที่เรียกว่า "คืนเพ็ญ" จึงเกิดเป็นพิธีกรรมหนึ่งขึ้นมาคือ "พิธีอาบน้ำเพ็ญ" เพราะเชื่อว่าเมื่ออาบน้ำเพ็ญแล้วจะโชคดีมีลาภ มีเสน่ห์เมตตามหานิยม ทำให้ชะตาชีวิตรุ่งโรจน์ ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน

พิธีอาบน้ำเพ็ญเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งใน "ประเพณีลอยกระทง" คือ เมื่อถึงเวลาเที่ยงคืนที่พระจันทร์เต็มดวงตรงศีรษะ ก็จะลงอาบน้ำเพ็ญตามแม่น้ำลำคลอง พิธีการอาบน้ำมนต์น้ำเพ็ญนั้น มีบันทึกไว้เป็นหลักฐานคือ การประกอบพิธีอาบน้ำเพ็ญที่วัดสุทัศนเทพวราราม สมัยสมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศน์ เสด็จท่านจะประกอบพิธีเพียงปีละครั้งเท่านั้น โดยเลือกเอาวันเพ็ญเดือน ๑๒ ถือเป็นวันที่พิเศษอย่างยิ่ง

พิธีจะเริ่มจากพระสงฆ์ทำสังฆกรรม สวดพระปาติโมกข์ อันหมายถึงความบริสุทธิ์แห่งสงฆ์ทั้งปวง ต่อด้วยปฐมเทศนา เจริญพระพุทธมนต์ธัมมจักกัปปวัตนสูตร

จากนั้นจะเป็นการสวดนพเคราะห์ บูชาเทพยดาประจำวันเกิด เสริมดวงชะตา เสริมวาสนา บารมี โดยพระสงฆ์จะเจริญพระพุทธมนต์ประจำแต่ละวัน สลับกับโหรหรือบัณฑิตอ่านโองการบูชาเทพยดานพเคราะห์ทั้ง ๙

ต่อด้วยเจริญพระคาถาพุทธาภิเษก หมายถึง พระพุทธ มีความยิ่งใหญ่ดุจดวงอาทิตย์ พระธรรม มีความเยือกเย็น งดงามดุจพระจันทร์ พระสงฆ์ เปรียบเหมือนดวงดาวที่รายล้อมอยู่ บารมี ๑๐ ทัศ สรรเสริญพุทธลักษณะ ๓๒ ประการ อนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ และบทเจริญเมตตาใหญ่



ปิดท้ายด้วยการเจริญพระคาถาภาณวาร เป็นพระคาถาที่สวดตามวาระ ไม่ค่อยสวดบ่อยนัก เป็นพระคาถาขับไล่เสนียด สิ่งอัปมงคล ป้องกันภัย โรคร้ายต่างๆ และเจริญอายุวัฒนะ

อย่างไรก็ตามใน คืนวันลอยกระทง วัดสมรโกฏฺิ  ตั้งอยู่เลขที่ ๑๒ คลองบางระมาด หมู่ที่ ๑๑แขวงฉิมพลี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ จะจัดพิธีการอาบน้ำเพ็ญ หน้าโบสถ์มหาอุด สมัยอยุธยา เวลา ๑๙.๓๙ น. โดยนิมนต์ “พระภาวนาวิสุทธิโสภณ” หรือ “หลวงพ่อมหาสุรศักดิ์ อติสักโข” เจ้าอาวาสวัดประดู่ พระอารามหลวง ต.วัดประดู่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม มาเจริญจิตภาวนาปลุกเสกน้ำมนต์

ในพิธีอาบน้ำเพ็ญ ทางวัดได้จัดสร้าง “ตะกรุด พิสมรจันทร์เพ็ญ” ได้จารอักขระหัวใจคาถาพระรัตนตรัย และคาถาจินดามณี ของสำนักวัดกลางบางแก้ว และสำนักวัดประดู่ทรงธรรม เน้นในด้านเมตตา ค้าขาย เจริญในหน้าที่การงาน แคล้วคลาดปลอดภัย จารมือทุกดอก

นอกจากนี้ยังจัดให้มี พิธีเททองหล่อท้าวเวสสุวรรณ  เวลา 19.09 น. ซึ่งเป็นหนึ่งในท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ เป็นนายแห่งภูตผี ขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายไม่ดี ท่านเป็นเทพเจ้าแห่งขุมทรัพย์ ใครได้หล่อได้บูชาจะทำให้เป็นผู้มีทรัพย์ เจริญรุ่งเรือง

วัดสมรโกฏิ เป็นวัดเก่า ที่ได้รับการดูแลโดยกรมศิลปากร ตั้งอยู่ริมคลองบางระมาดแม้จะถูกบูรณะจนดูใหม่แต่อุโบสถและวิหารยังมีเค้าของอาคารสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย  คือ อาคารมีขนาดเล็กก่อผนังสูง ไม่มีเสา ผนังด้านหลังอุดตันไม่มีประตู เรียกว่า “มหาอุด”

ใบเสมาเอกด้านหน้าอุโบสถเป็นแบบ “เสมาโหล” สลักจากหินอ่อนแบบที่นิยมกันในสมัยรัชกาลที่ 3 วัดนี้มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ คือ หลวงพ่อคงและหลวงพ่อดำ

การเดินจากแยกที่ถนนราชพฤกษ์ตัดกับถนนบรมราชชนนี ให้ใช้ถนนราชพฤกษ์มุ่งหน้าทางทิศใต้หรือมุ่งหน้าถนนเพชรเกษม ประมาณ 350 เมตร พบซอยวัดสมรโกฏิทางซ้ายมือ (มีซุ้มประตูวัด) ไปตามถนนในซอยประมาณ ๕๐๐ เมตร ถึงวัด (มีป้ายบอกตลอดทาง)



สำหรับผู้ที่มีความประสงค์จะร่วมจองเทียน นพพระเคราะห์ เป็นตำราเทียนโบราณเขียนยันต์ด้วยกระดาษสา เป็นเทียนเฉพาะตัว ด้วยบารมีของพระยันต์อำนาจพุทธคุณจะคุ้มครองดวงชะตา ของผู้ที่ได้จุดถวายเป็นพุทธบูชา ร่วมทั้งร่วมพิธีอาบน้ำเพ็ญตำรับพระสังฆราช (แพ) สอบถามรายละเอียดได้ที่วัดสมรโกฏิ แขวงฉิมพลี  เขตตลิ่งชัน กทม. โทร. 093 515 3222

มูลนิธิจำนง รังสิกุล เปิดโผผู้เข้ารอบสุดท้าย “รางวัลทีวีสีขาว” รางวัลแรกในวงการโทรทัศน์ไทยที่มีเงินสนับสนุนให้กำลังใจ มากถึง 2.7 ล้านบาท




มูลนิธิจำนง รังสิกุล ผู้ดำเนินการจัดโครงการรางวัลทีวีสีขาวแถลงข่าวประกาศรายชื่อผู้เข้าชิง “รางวัลทีวีสีขาว” ในประเภทรายการโทรทัศน์ดีเด่น 9 รางวัล และบุคคลากรดีเด่นทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังอีก 9 รางวัล  โดยมีเงินรางวัลรวมมากถึง 2.7 ล้านบาท  กำหนดจัดงานประกาศผลรางวัล อาทิตย์ที่  2 ธันวาคมนี้ ที่โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์

นายพยงค์ คชาลัย ประธานมูลนิธิจำนง รังสิกุล พร้อมด้วย นายนคร วีระประวัติ รองประธานมูลนิธิจำนง รังสิกุล ในฐานะหัวหน้าโครงการ รางวัลทีวีสีขาว” ร่วมกันแถลงข่าวประกาศรายชื่อผู้เข้าชิง “รางวัลทีวีสีขาว” จำนวน 18 รางวัล  โดย นายนคร เปิดเผยว่า “รายการทั้งหมดพิจารณาจากรายการที่ออกอากาศในสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล 26 ช่อง ซึ่งมีทั้งผลงานที่คณะกรรมการและคณะทำงานฯ เสนอชื่อเข้าพิจารณา  และผลงานที่ผู้ผลิตและสถานโทรทัศน์ฯ ส่งเข้าประกวด แบ่งเป็นประเภทรายการ 227 รายการ และประเภทบุคคล 202 คน จากนั้น คณะกรรมการคัดเลือกได้พิจารณาอย่างละเอียดทุกประเภทรายการและประเภทบุคคล โดยนัดประชุมกันถึง 5 ครั้ง หลังจากกลั่นกรองมาอย่างรอบคอบก็ได้ส่งมอบให้คณะกรรมการตัดสินพิจารณาอย่างละเอียดอีกครั้ง ก่อนจะประกาศเป็นผู้เข้าชิง และจะประกาศผลรางวัลในวันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคมนี้ ที่โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์”

ทั้งนี้ “รางวัลทีวีสีขาว” มีความโดดเด่นคือการสนับสนุนให้กำลังใจแก่ผู้ผลิตรายการและบุคลากรในวงการโทรทัศน์ระบบดิจิตัลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพงานยิ่งๆขึ้นไป ด้วยการมอบเงินรางวัลให้ด้วย โดยแบ่งเป็นประเภทรายการดีเด่น 9 รางวัลๆ ละ   200,000 บาท และประเภทบุคคลดีเด่น 9 รางวัลๆ ละ 100,000 บาท รวมเงินรางวัลทั้งสิ้น 2,700,000 บาท



สำหรับ รายชื่อรายการที่ได้รับการพิจารณา ให้เข้ารอบสุดท้าย “รางวัลทีวีสีขาว” ประเภทรายการดีเด่น 9 รางวัล ได้แก่

1. รายการข่าวดีเด่น ประกอบด้วย รายการ”ข่าวค่ำไทยพีบีเอส” จากสถานีไทยพีบีเอส, รายการ”ทีเอ็นเอ็นข่าวค่ำ” จากสถานีทีเอ็นเอ็น 24, รายการ”ไทยรัฐนิวส์โชว์” จากสถานีไทยรัฐทีวี, รายการ “สนามข่าว 7 สี”จากสถานีช่อง 7 เอชดี, รายการ”เรื่องเด่นเย็นนี้” จากสถานีช่อง 3 เอชดี

2. รายการสารคดีดีเด่น ประกอบด้วย รายการ “Full Frame ช่างภาพสุดขั้ว” จากสถานี นาว 26, รายการ “กบนอกกะลา”  จากสถานี เอ็มคอต เอชดี, รายการ “พื้นที่ชีวิต” จากสถานีไทยพีบีเอส, รายการ “รอบโลก by กรุณา บัวคำศรี จากสถานีพีพีทีวี 36, รายการ “ลุยไม่รู้โรย สูงวัยดี๊ดี” จากสถานีไทยพีบีเอส

3. รายการกีฬาสร้างสรรค์ดีเด่น ประกอบด้วย รายการ”มวยไทย Real Hero” จากสถานีอัมรินทร์ 34     เอชดี, รายการ “มวยไทยเจ็ดสี” จากสถานีช่อง 7 เอชดี,  รายการ “ศึกมวยไทย 3 ยก” จากสถานีไทยรัฐทีวี, รายการ      “ศึกเรือยาวชิงจ้าวสายน้ำ”จากสถานีไทยพีบีเอส, รายการ “เสน่ห์กีฬา” จากสถานีช่อง 3 เอชดี
              
               4. รายการสำหรับเด็กดีเด่น ประกอบด้วย รายการ “Super 10” จากสถานีเวิร์คพอยท์ 23, รายการ        “เจ้าขุนทองตีกลองประชุม”จากสถานีช่อง 7 เอชดี, รายการ “ท้าให้อ่าน เล่มโปรด” จากสถานีไทยพีบีเอส, รายการ “บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย” จากสถานีไทยพีบีเอส, รายการ “สอนศิลป์”จากสถานีไทยพีบีเอส

5. รายการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมดีเด่น ประกอบด้วย รายการ “กระจกหกด้าน”จากสถานีช่อง 7 เอชดี, รายการ “คุณพระช่วย”จากสถานีเวิร์คพอยท์ 23, รายการ “ศิษย์มีครู”จากสถานีไทยพีบีเอส, รายการ “สร้างศิลป์” จากสถานีโทรทัศน์รัฐสภาช่อง 10, รายการ “อาสากล้าดี” จากสถานีเนชั่น 22

6. รายการปกิณกะดีเด่น ประกอบด้วย รายการ “Super 60+”จากสถานีเวิร์คพอยท์ 23, รายการ          “ช่างประจำบ้าน” จากสถานีอัมรินทร์ 34 เอชดี, รายการ “เปิดตำนานกับเผ่าทอง ทองเจือ” จากสถานีพีพีทีวี 36, รายการ”ภัตตาคารบ้านทุ่ง” จากสถานีไทยพีบีเอส, รายการ “อยู่เป็นลืมป่วย ซีซั่น 4” จากสถานีอัมรินทร์ 34 เอชดี
              
               7. รายการส่งเสริมการศึกษาหรือเทคโนโลยีดีเด่น ประกอบด้วย รายการ “ชัวร์ก่อนแชร์”จากสถานีเอ็มคอต เอชดี, รายการ “ชีวิตติด Tech”          จากสถานีไทยพีบีเอส, รายการ “พบหมอศิริราช” จากสถานีช่อง 7 เอชดี, รายการ “รู้เท่ารู้ทัน” จากสถานีไทยพีบีเอส, รายการ “สมรภูมิไอเดีย” จากสถานีช่อง 3 เอสดี 28
              
               8. รายการละครสร้างสรรค์ดีเด่น ประกอบด้วย รายการละครเรื่อง “My Hero วีรบุรุษสุดที่รัก ตอนมาตุภูมิแห่งหัวใจ จากสถานีช่อง 3 เอชดี, รายการละครเรื่อง”ข้ามสีทันดร” จากสถานีช่อง 3 เอชดี, รายการละครเรื่อง  “ริมฝั่งน้ำ” จากสถานีช่อง 3 เอชดี, รายการละครเรื่อง “ศรีอโยธยา” จากสถานีทรูโฟร์ยู,  รายการละครเรื่อง “หลวงตามหาชน” จากสถานีช่อง 3 เอชดี

9. รายการละครดีเด่น ประกอบด้วย รายการละครเรื่อง “กาหลมหรทึก” จากสถานีช่องวัน 31, รายการละครเรื่อง “น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์” จากสถานีช่อง 3 เอชดี, รายการละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” จากสถานีช่อง 3 เอชดี, รายการละครเรื่อง“แม่อายสะอื้น” จากสถานีช่อง 7 เอชดี, รายการละครเรื่อง “หนึ่งด้าวฟ้าเดียว”จากสถานีช่อง 3 เอชดี


ส่วนรายชื่อบุคคลที่ได้รับการพิจารณา ให้เข้ารอบสุดท้าย “รางวัลทีวีสีขาว” ประเภท บุคคลดีเด่น 9 รางวัล ได้แก่

1. ผู้ดำเนินรายการข่าวดีเด่น ประกอบด้วย กิตติ สิงหาปัด จากสถานีช่อง 3 เอชดี, เขมสรณ์ หนูขาว จากสถานีไทยรัฐทีวี, ชนิตร์นันทน์ ปุณณะนิธิ จากสถานีทีเอ็นเอ็น 24, บัญชา ชุมชัยเวทย์ จากสถานีช่อง 3 เอชดี, ภาคภูมิ พันธุ์สถิตย์จากสถานีไทยรัฐทีวี

2. ทีมรายงานข่าวดีเด่น ประกอบด้วย ทีมข่าวไทยรัฐทีวี จากสถานีไทยรัฐทีวี๙, ทีมข่าว 3 มิติ จากสถานีช่อง 3  เอชดี, ทีมข่าวพีพีทีวี จากสถานีพีพีทีวี, ทีมข่าวเวิร์คพอยท์ทีวี จากสถานีเวิร์คพอยท์ 23, ทีมข่าวไทยพีบีเอส จากสถานีไทยพีบีเอส

3. พิธีกรดีเด่น ประกอบด้วย เผ่าทอง ทองเจือ จากรายการ “เปิดตำนานกับเผ่าทอง ทองเจือ” จากสถานีพีพีทีวี
-มาโนช พุฒตาล จากรายการ”สามัญชนคนไทย” จากสถานีไทยพีบีเอส, วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล จากรายการ “พื้นที่ชีวิต” จากสถานีไทยพีบีเอส, สัญญา คุณากร จากรายการ “เจาะใจ” จากสถานีเอ็มคอต เอชดี, สุวิกรม อัมระนันทน์ จากรายการ “เปอร์สเปคทีพ” จากสถานีเอ็มคอต เอชดี

4. ผู้เขียนบทละครโทรทัศน์ดีเด่น ประกอบด้วย “กู๊ดโฮป” จากละครเรื่อง “ข้ามสีทันดร” จากสถานีช่อง 3 เอชดี, ศัลยา สุขะนิวัตติ์ จากละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” จากสถานีช่อง 3 เอชดี, ศิริลักษณ์ ศรีสุคนธ์ จากละครเรื่อง “กาหลมหรทึก” จากสถานีช่องวัน 31, อภิวัฒน์ เล่าสกุล จากละครเรื่อง “หงส์เหนือมังกร” จากสถานีช่อง 7 เอชดี,  “เอกลิขิต” จากละครเรื่อง “หนึ่งด้าวฟ้าเดียว” จากสถานีช่อง 3 เอชดี

5. ผู้กำกับการแสดงดีเด่น ประกอบด้วย กิตติศักดิ์ ชีวาสัจจาสกุล จากละครเรื่อง “หนึ่งด้าวฟ้าเดียว” จากสถานีช่อง 3 เอชดี, เชิดพงษ์ เหล่ายนตร์ จากละครชุด “แม่ผู้สร้าง ตอนสายใยรักแห่งแผ่นดิน” จากสถานีไทยพีบีเอส, ภวัต ภนังคศิริ จากละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” จากสถานีช่อง 3 เอชดี, ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล จากละครเรื่อง”ศรีอโยธยา” จากสถานีช่องทรูโฟร์ยู, อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร จากละครเรื่อง”ข้ามสีทันดร”จากสถานีช่อง 3 เอชดี

6. นักแสดงสมทบหญิงดีเด่น ประกอบด้วย จรรยา ธนาสว่างกุล จากละครชุด “แม่ผู้สร้าง ตอน สายใยรักแห่งแผ่นดิน” จากสถานีไทยพีบีเอส, ณัฐริกา ธรรมปรีดานันท์ จากละครเรื่อง “หนึ่งด้าวฟ้าเดียว” จากสถานีช่อง 3 เอชดี, ทาริกา ธิดาทิตย์ จากละครเรื่อง “ริมฝั่งน้ำ” จากสถานีช่อง 3 เอชดี, พรชดา เครือคช จากละครเรื่อง “แม่อายสะอื้น” จากสถานีช่อง 7 เอชดี, สินจัย เปล่งพานิช จากละครเรื่อง”ศรีอโยธยา” จากสถานีทรูโฟร์ยู, อำภา ภูษิต จากละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” จากสถานีช่อง 3 เอชดี
              
               7. นักแสดงสมทบชายดีเด่น ประกอบด้วย นพชัย ชัยนาม จากละครเรื่อง “ศรีอโยธยา” จากสถานีทรูโฟร์ยู, พชร   จิราธิวัฒน์ จากละครเรื่อง “ข้ามสีทันดร” จากสถานีช่อง 3 เอชดี, สรพงษ์ ชาตรี จากละครเรื่อง “แม่อายสะอื้น” จากสถานีช่อง 7 เอชดี, สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์ จากละครเรื่อง”ริมฝั่งน้ำ” จากสถานีช่อง 3 เอชดี, หลุยส์ สก๊อต จากละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” จากสถานีช่อง 3 เอชดี, อเล็กซ์ เรนเดล จากละครเรื่อง “คมแฝก” จากสถานีช่อง 3 เอชดี,

8. นักแสดงนำหญิงดีเด่น ประกอบด้วย เขมนิจ จามิกรณ์ จากละครเรื่อง “ศรีอโยธยา” จากสถานีทรูโฟร์ยู, ณัฐพร เตมีรักษ์ จากละครเรื่อง “หนึ่งด้าวฟ้าเดียว” จากสถานีช่อง 3 เอชดี, ฝนทิพย์ วัชรตระกูล จากละครเรื่อง “แม่อายสะอื้น” จากสถานีช่อง 7 เอชดี, โฟกัส จิระกุล จากละครชุด “ฤดูกาลแห่งรัก ตอนฝน” จากสถานีไทยพีบีเอส เมลดา สุศรี จากละครเรื่อง “หงส์เหนือมังกร” จากสถานีช่อง 7 เอชดี, ราณี แคมเปญ จากละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” จากสถานีช่อง 3 เอชดี

9. นักแสดงนำชายดีเด่น ประกอบด้วย จิรายุ ตั้งศรีสุข จากละครเรื่อง “หนึ่งด้าวฟ้าเดียว” จากสถานีช่อง 3 เอชดี ณเดช คุกิมิยะ จากละครเรื่อง “ลิขิตรัก”  จากสถานีช่อง 3 เอชดี, ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ จากละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส”
จากสถานีช่อง 3 เอชดี, ศุกลวัฒน์ คณารศ จากละครเรื่อง “สัมปทานหัวใจ” จากสถานีช่อง 7 เอชดี, อนันดา เอเวอริ่งแฮม จากละครเรื่อง “ศรีอโยธยา” จากสถานีทรูโฟร์ยู, ภาคิน  คำวิลัยศักดิ์ จากละครเรื่อง “วายุเทพยุทธ์” จากสถานีช่อง ONE 31
งานประกาศผลรางวัลทีวีสีขาว จะจัดขึ้นใน วันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม 2561 เวลา 16.00 – 18.00 น.           ณ โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ ซ.รางน้ำ และจะนำเทปบันทึกภาพออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง 7 HD ในเวลา 22.30 น. ในวันเดียวกัน โดยได้เชิญศิลปินแห่งชาติหลายท่านพร้อมด้วยบุคคลที่มีบทบาทเป็นดาวเด่นบนจอทีวีจากอดีตจนถึงปัจจุบันมาร่วมประกาศผลและมอบรางวัลบนเวที


              
               ศิลปินแห่งชาติที่ตอบรับมา ได้แก่ สะอาด เปี่ยมพงษ์สานต์ จากสาขาศิลปะการแสดง ปี 2557, ภัทราวดี        มีชูธน สาขาศิลปะการแสดง ปี 2557,  ชมัยภร แสงกระจ่าง บางคมบาง สาขาวรรณศิลป์ ปี 2557, คเณศ (รอง)     เค้ามูลดคี สาขาศิลปะการแสดงปี 2557 และยุทธนา มุกดาสนิท สาขาศิลปะการแสดง ปี 2557
              
               ส่วนบุคคลที่เคยเป็นดาวเด่นบนจอทีวีในอดีต อาทิ อารีย์ นักดนตรี, นฤพนธ์ ดุริยพันธ์, กนกวรรณ ด่านอุดมพิศาล อัครเศรณี, กรรณิการ์ ธรรมเกสร, ดำรง พุฒตาล, พลตรีประพาส  ศกุณตนาค, ประภัทร์ ศรลัมพ์,  สำหรับงานนี้ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ผู้ทำให้ข่าวโทรทัศน์เป็นที่สนใจของผู้ชมในอดีตมาพร้อมกับทีมผู้สื่อข่าวซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี ยุพา เพชรฤทธิ์ กับ ฤดีมาส ปางพุฒิพงศ์ ร่วมกันประกาศรางวัลข่าวโทรทัศน์ของงานนี้ด้วย

ทั้งนี้ ภายในงาน มีคณะกรรมการ  อาทิ ดำรง พุฒตาล, นันทวัน เมฆใหญ่  สุวรรณปิยะศิริ,  ดร.ประภาส  นวลเนตร, ยุพา  ทวีวัฒนะกิจบวร, อารีย์ ป้องสีดา, อัจฉรา บุนนาค นววงศ์ มาร่วมงาน และ ดารานักแสดง ผู้จัดละคร อาทิ นพพล โกมารชุน, กวาง เดอะสตาร์ - ธัญญรัศม์ ไตรสุทธิวงษ์, ปอม - ภาสกร เครือโสภณ จากละครประกาศิตกามเทพ, เอิร์ธ-วิศววิท วงษ์วรรณลภย์ จากละครบุพเพสันนิวาส, บีม-ปภังกร ฤกษ์เฉลิมพจน์ จากละครน้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์  ปัทมา ปานทอง  กษมา นิสสัยพันธุ์  สมมาตร ไพรหิรัญ   ให้เกียรติมาร่วมงานแถลงข่าว  และ ประภัทร์ ศรลัมพ์ เป็นพิธีกรดำเนินรายการ

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whitetvaward.com หรือเฟสบุ๊ก www.facebook.com/ WhiteTvAward 


นักวิชาการถก ขึ้นภาษียาเส้น ลดการบริโภคยาสูบได้จริงหรือ




คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  จัดเสวนาวิชาการหัวข้อ มาตรการภาษียาเส้น เพื่อลดการบริโภคยาสูบให้ได้ตามเป้าหมาย  ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้  โดยมีวิทยากรที่ร่วมงานเสวนา  ประกอบด้วย รศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์  อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   ดร.พญ. เริงฤดี  ปธานวนิช  รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)  และดร.นงนุช ตันติสันติวงศ์  ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการคลัง  มหาวิทยาลัยเซาแทมป์ตัน  ประเทศอังกฤษ


 ดร.พญ. เริงฤดี  ปธานวนิช  รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า ภายในปี 2562 ประเทศไทยตั้งเป้าหมายลดการจำนวนผู้สูบลงเหลือไม่เกินร้อยละ 16.7 จากปัจจุบันที่จำนวนผู้สูบที่สำรวจล่าสุดปี 2560 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติอยู่ที่ร้อยละ 19.1 หรือลดจำนวนผู้สูบให้ได้ล้านกว่าคนภายในปีหน้า และไทยยังให้คำมั่นในระดับนานาชาติต่อองค์การอนามัยโลก (NCD Global Targets) ที่กำหนดเป้าหมายลดการบริโภคยาสูบลงให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี 2568 ซึ่งสำหรับประเทศไทยคือการลดอัตราผู้บริโภคยาสูบลงเหลือร้อยละ 14.7 ให้ได้ภายในปี 2568  

แต่การจะดำเนินงานไปให้ถึงเป้าหมายนั้นยังมีอุปสรรคใหญ่อยู่ที่ “ยาเส้น” ที่ผ่านมารัฐบาลมุ่งเน้นการใช้มาตรการภาษีในอัตราที่สูงกับบุหรี่ซิกาแรต  คือ  1.20 บาท/มวน บวกร้อยละ 20 ของราคาขายปลีกสำหรับบุหรี่ที่ราคาไม่เกินซองละ 60 บาท  หรือบวกอีกร้อยละ 40 ของราคาปลีกสำหรับบุหรี่ที่ราคาเกินซองละ 60 บาท ในขณะที่อัตราภาษียาเส้นต่ำมากเพียง  0.005 บาทต่อกรัม ทำให้เกิดช่องว่างด้านราคาระหว่างบุหรี่ซองกับยาเส้นสูงมาก  กล่าวคือ ยาเส้นแพคขายปลีกราคา  12 บาท ผู้บริโภคนำไปมวนเองได้จำนวนมวนมากหรือน้อยขึ้นกับปริมาณยาเส้นที่ใช้มวนในแต่ละครั้ง  ในขณะที่บุหรี่ซองมีจำนวน 20 มวนขายราคาปลีกที่  60 บาท ความต่างของราคาจึงห่างกันถึง 5 เท่า 

ผลที่เกิดขึ้นชัดเจน  หลังการประกาศใช้อัตราภาษีแบบใหม่นี้ตั้งแต่กันยายน 2560  คือสิงห์อมควันเปลี่ยนการบริโภคจากบุหรี่มวนไปเป็นยาเส้นซึ่งเป็นสินค้าทดแทนที่ราคาถูกกว่าบุหรี่มาก และยังเข้าถึงได้ง่าย 

“ยาเส้น” จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้อัตราการการบริโภคยาสูบในประเทศไทยลดลงได้ตามเป้าหมายได้  ด้วยการใช้มาตรการภาษีในอัตราที่ใกล้เคียงกับอัตราภาษีบุหรี่    และเป็นปัจจัยที่ยังเป็นตัวปัญหาสำคัญ   ซึ่งปัจจุบัน ศจย.กำลังดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อวางกรอบแนวทางในการปรับขึ้นภาษียาเส้นอย่างเหมาะสมเพื่อนำเสนอให้รัฐบาลต่อไป  โดยศึกษาอย่างรอบด้านถึงผลกระทบที่มีต่อเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ ผู้ผลิต  ผู้นำเข้า  ผู้ค้า และผู้บริโภค  

รศ.ดร. อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์  อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   ระบุว่า ปัจจุบันยาเส้นเสียภาษีต่ำมาก และหลังจากการปรับโครงสร้างภาษียาสูบเมื่อเดือนกันยายน  2560 กรมสรรพสามิตก็ยอมรับว่ามีนักสูบจำนวนหนึ่งที่เปลี่ยนไปสูบยาเส้นแทนบุหรี่มวน  ด้วยปัจจัยด้านราคา   และช่องว่างราคาระหว่างบุหรี่และยาเส้นจะห่างมากขึ้นไปอีกในเดือนตุลาคม 2562 จากการขึ้นภาษีบุหรี่เป็นร้อยละ 40 สำหรับบุหรี่ซองที่ราคาขายปลีกไม่เกินซองละ 60 บาท   นี่คือความจำเป็นที่รัฐบาล ควรเร่งใช้มาตรการภาษีกับยาเส้นให้เป็นรูปธรรมชัดเจนเร็วที่สุด

ทั้งนี้ มีข้อมูลในทางวิชาการระบุว่า  การขึ้นราคาบุหรี่มวน  10 บาทต่อซองสามารถลดการสูบบุหรี่ลงได้ 24% ขณะเดียวกันก็ทำให้มีอัตราการเพิ่มของผู้สูบยาเส้นมวนเองราว 12%  และเพิ่มอัตราผู้สูบทั้งบุหรี่และยาเส้นอีก  12% แสดงให้เห็นว่า  24% ที่ลดลงนั้นไม่ได้มีผลต่อภาพรวมการบริโภคยาสูบแต่อย่างใด  เป็นแต่เพียงการย้ายตลาดการบริโภคเท่านั้น   และจากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในทุกสามปี พบว่า แม้อัตราการบริโภคยาสูบในภาพรวมจะค่อยๆ ลดลง  แต่เมื่อเทียบอัตราผู้สูบบุหรี่และผู้สูบยาเส้นในการสำรวจทุกครั้ง  จำนวนผู้สูบยาเส้นไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ  ยังคงเป็นอัตราร้อยละ 50 ของจำนวนผู้บริโภคยาสูบ โดยตัวเลขล่าสุดปี 2560  ผู้บริโภคยาสูบมีจำนวน 10.7 ล้านคน เป็นผู้สูบยาเส้นมวนเองจำนวน   5.3  ล้านคน    

อย่างไรก็ตาม  นักวิชาการให้ความเห็นว่า ถ้ายาเส้นราคาแพงขึ้นทันทีในคราวเดียวจากมาตรการภาษีให้ใกล้เคียงกับอัตราภาษีบุหรี่  ย่อมส่งผลกระทบต่อบรรดาสิงห์ยาเส้นที่มีรายได้น้อย  ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องกล้าเผชิญ   และเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว  รัฐบาลควรประกาศแผนการขึ้นภาษียาเส้นในระยะ  3-5 ปี เป็นแผนระยะกลางและระยะยาวและเป้าหมายอัตราภาษีที่คิดว่าเหมาะสม  เพื่อให้ผู้บริโภคและผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยาสูบได้เตรียมปรับตัวและวางแผนการจัดการได้    เช่นเดียวกับในปัจจุบันที่รัฐบาลประกาศเรื่องภาษีความหวาน  มัน  เค็ม  เพื่อช่วยดูแลสุขภาพประชาชน   

ด้านนักวิชาการจากประเทศอังกฤษ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการคลัง และการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโครงสร้างภาษีผลิตภัณฑ์ยาสูบ  ดร.นงนุช ตันติสันติวงศ์ ได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากต่างประเทศ ที่มีการปรับอัตราภาษียาเส้นให้ใกล้เคียงกับภาษีบุหรี่มวน ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ  แคนาดา ออสเตรเลีย เป็นต้น  พร้อมกับชี้ว่าไม่มีความจำเป็นหรือเหตุผลที่จะต้องแบ่งยาเส้นออกเป็นแบบปรุงกับแบบไม่ปรุง โดยให้เสียภาษีในอัตราที่ต่างกัน  เพราะไม่ว่าจะเป็นยาเส้นแบบใดต่างก็เป็นสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนเหมือนกัน  

ดังนั้น  ในเบื้องต้นนี้ ไทยควรยกเลิกการแบ่งประเภทยาเส้น  และตามมาด้วยการขึ้นภาษียาเส้นแบบไม่ปรุงให้มีอัตราเท่ากับเท่ากับยาเส้นปรุงเสียก่อน  คือ 1.20 บาทต่อกรัม  จากนั้นในระยะต่อไปจึงค่อยปรับให้อัตราการขึ้นภาษียาเส้นใกล้เคียงกับอัตราภาษีบุหรี่มวน   โดยเสนอให้คิดอัตราภาษีตามน้ำหนักเป็นกรัมทั้งบุหรี่และยาเส้น  และเห็นพ้องว่า รัฐบาลควรจัดทำแผนภาษีเป็นระยะกลางและระยะยาว เพื่อกำหนดอัตราขั้นภาษีที่ชัดเจนสำหรับผลิตภัณฑ์ยาเส้น



ร้องจเรแห่งชาติ และศปอส.ตร.



คดีที่เกี่ยวข้องกับการแอบอ้างชื่อสินค้าและละเมิดลิขสิทธิ์ รวมถึงมีกลุ่มนายทุนชาวต่างชาติที่จ้างวานให้คนไทยเข้าเป็นเจ้าของธุรกิจบังหน้า หรือที่เรียกว่า “นอมินี” มีให้เห็นเป็นข่าวแทบทุกวัน ล่าสุด ก็มีบริษัทที่ได้รับความเสียหายในเรื่องนี้ เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนและมอบหลักฐานเอกสารให้กับจเรตำรวจแห่งชาติ เพื่อเป็นข้อมูลในการกวาดล้างบริษัทกำมะลอเหล่านี้

               นายกันตเมธส์  จโนภาส  ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของบริษัท เวรี่ เอ็มดับบลิวแอล (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของสินค้ายี่ห้อ Annabella ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อพลตำรวจเอก สุชาติ ธีระสวัสดิ์ จเรตำรวจแห่งชาติ หลังจากที่บริษัทฯได้แจ้งความร้องทุกข์กับหลายหน่วยงาน กรณีที่มีการแอบอ้างเป็นผู้จัดจำหน่าย ผู้ผลิต และโรงงานที่ไม่มีการผลิตจริงตามที่ได้จดแจ้งไว้ จนทำให้บริษัทต้องเสียหายไปนับร้อยล้านบาท โดยทางบริษัทคาดว่า อาจเป็นสินค้าที่ผลิตจากประเทศจีนแล้วลักลอบเข้ามาในประเทศไทย

               นอกจากนี้ ทางบริษัทเคยเข้าไปร่วมให้ข้อมูลและประสานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม เข้าไปจับกุมกลุ่มคนที่นำสินค้าที่แอบอ้างไปจัดจำหน่ายในหลายพื้นที่ โดยมีครั้งหนึ่งที่มีโทรศัพท์ลึกลับโทรเข้ามาหาเจ้าหน้าที่ชุดจับกุม พร้อมกับแจ้งว่า “ให้ปล่อยสินค้ายี่ห้อ Annabella ทั้งหมด ส่วนยี่ห้ออื่นจะทำอะไรก็ตามใจ” ซึ่งทราบภายหลังว่า คนที่โทรมาอ้างว่า เป็นการสั่งการมาจากนายตำรวจระดับพลตำรวจตรีและ พลตำรวจโทนายหนึ่ง ทางบริษัทจึงถือว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรง เพราะมีการกล่าวอ้างถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูง จึงต้องมาร้องเรียนกับพลตำรวจเอก สุชาติ ธีระสวัสดิ์ จเรตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ว่า มีนายตำรวจระดับบิ๊กอยู่เบื้องหลังจริงหรือไม่ อีกทั้งยังได้แจ้งเบาะแสต่อ ศปอส.ตร. เพื่อให้สืบสวนสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับบริษัทและผู้ที่เกี่ยวข้องที่มีความผิดในเรื่องนอมินีอีกด้วย

วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

“ตั้ม นาโคย่า”จับมือ“ใหญ่ กรภัทร์” ทำเพลงสนุกเซ็กซี่“นู๋อยากน้ำเดิน”


เปิดตัวค่ายน้องใหม่แต่ผู้บริหารเก๋าประสบการณ์เมื่อ “ตั้ม นาโคย่า(ยูทูเปอร์ชื่อดัง)”ร่วมมือกับ “ใหญ่ กรภัทร์” ช่วยกันทำค่ายเพลงเล็กๆขึ้นมา คือ “นาโคย่า เร็คคอร์ด” เพื่อจะได้ไว้ปั้นนักร้องศิลปินที่มีความสามารถแต่ไม่มีโอกาส ให้ได้ไปถึงจุดหมายที่ฝันไว้

กลุ่มศิลปินในนาม “3 สาว มะรุมมะตุ้ม” กับบทเพลง “นู๋อยากน้ำเดิน” คือการประเดิมเบอร์แรกของค่าย“นาโคย่า เร็คคอร์ด” ซึ่งประกอบด้วย 3 สาว กมลชนก ตันทิมา(หนุงหนิง นมซิ่ง) / ชมพูนุท ครุฑคำ(มุก) / วรินศา บุญเฮ้า(ใบเฟิร์น)

 “นู๋อยากน้ำเดิน” เพลงจังหวะสนุก ออกแนวเซ็กซี่ และได้ถ่ายทำ MV เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยทีมงานมือฉมังในการกำกับและถ่ายทำ อาทิ  “เบนจามิน” นักแสดงหนุ่มหล่อชาวฝรั่ง ซึ่งมีผลงานทางด้านภาพยนตร์และละครดังๆอยู่หลายเรื่องล่าสุดกับบทบาททหารเอกของหลุยส์สก๊อต จากละครดังเรื่อง “บุพเพสันนิวาส”ที่พอละครออกไปเขาก็ได้ฉายาทันที่ว่าฝรั่งมือตบ MV พร้อมทั้งยังได้ผู้กำกับภาพมือดี “อาจารย์อ๊อฟ ณัฏฐพล อมรทัต” มาดูแลการถ่ายทำให้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังได้เน็ตไอดอลชื่อดัง “เย สโม๊ค แฮคซี่”มาร่วมแจมในท่อนแร็พเพลงนี้อีกด้วย ซึ่งตอนนี้สามารถรับชม MV เพลง“นู๋อยากน้ำเดิน” ได้ทางยูทูป และสื่อต่างๆ



สำหรับศิลปินเบอร์ต่อไปของค่ายนาโคย่า เร็คคอร์ด คือ หนุ่มคู่หูดูโอ้ “เต้ย สมถุย” กับ “กาเหว่า ลิ้นซิ่ง” ที่มาพร้อมกับลีลากวนๆในนาม “ส้มระแวง” กับบทเพลงแรกของพวกเขาที่เน้นเอาฮา “อยากกินราดหน้า” โดยตอนนี้อยู่ในช่วงถ่ายทำ MV ซึ่งได้ “อรชร เชิญยิ้ม” มาเป็นนางเอกใน MV เรียกได้ว่าแค่ชื่อเพลง กับนักแสดงระดับฝีมือ ก็น่าจะสร้างสีสันเติมเต็มเสียงหัวเราะได้ไม่น้อย


              
ต่อจากนั้น ช่วงท้ายปี ทางค่ายนาโคย่า เร็คคอร์ด ยังมีเพลงแนวแร็พ จากศิลปินสาวน้อยวัยใส ที่จะมาพร้อมกับลีลาแร็พเปอร์ ซึ่งทางนาโคย่า เร็คคอร์ด จะเปิดเผยกันให้ทราบอีกที






ชาวบ้านเกาะหลักร้อง ‘ผู้ว่าฯประจวบ’ ผวาขอทำเหมืองแร่ในเขตชุมชน...

  ชาวบ้านตำบลเกาะหลัก ประจวบคีรีขันธ์ ร้องผู้ว่าประจวบฯ หลังบริษัททำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรม ขอทำเหมืองแร่ในเขตพื้นที่ชุมชน ชาวบ้านเกรงได้รับค...