วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

นักวิชาการถก ขึ้นภาษียาเส้น ลดการบริโภคยาสูบได้จริงหรือ




คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  จัดเสวนาวิชาการหัวข้อ มาตรการภาษียาเส้น เพื่อลดการบริโภคยาสูบให้ได้ตามเป้าหมาย  ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้  โดยมีวิทยากรที่ร่วมงานเสวนา  ประกอบด้วย รศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์  อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   ดร.พญ. เริงฤดี  ปธานวนิช  รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)  และดร.นงนุช ตันติสันติวงศ์  ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการคลัง  มหาวิทยาลัยเซาแทมป์ตัน  ประเทศอังกฤษ


 ดร.พญ. เริงฤดี  ปธานวนิช  รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า ภายในปี 2562 ประเทศไทยตั้งเป้าหมายลดการจำนวนผู้สูบลงเหลือไม่เกินร้อยละ 16.7 จากปัจจุบันที่จำนวนผู้สูบที่สำรวจล่าสุดปี 2560 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติอยู่ที่ร้อยละ 19.1 หรือลดจำนวนผู้สูบให้ได้ล้านกว่าคนภายในปีหน้า และไทยยังให้คำมั่นในระดับนานาชาติต่อองค์การอนามัยโลก (NCD Global Targets) ที่กำหนดเป้าหมายลดการบริโภคยาสูบลงให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี 2568 ซึ่งสำหรับประเทศไทยคือการลดอัตราผู้บริโภคยาสูบลงเหลือร้อยละ 14.7 ให้ได้ภายในปี 2568  

แต่การจะดำเนินงานไปให้ถึงเป้าหมายนั้นยังมีอุปสรรคใหญ่อยู่ที่ “ยาเส้น” ที่ผ่านมารัฐบาลมุ่งเน้นการใช้มาตรการภาษีในอัตราที่สูงกับบุหรี่ซิกาแรต  คือ  1.20 บาท/มวน บวกร้อยละ 20 ของราคาขายปลีกสำหรับบุหรี่ที่ราคาไม่เกินซองละ 60 บาท  หรือบวกอีกร้อยละ 40 ของราคาปลีกสำหรับบุหรี่ที่ราคาเกินซองละ 60 บาท ในขณะที่อัตราภาษียาเส้นต่ำมากเพียง  0.005 บาทต่อกรัม ทำให้เกิดช่องว่างด้านราคาระหว่างบุหรี่ซองกับยาเส้นสูงมาก  กล่าวคือ ยาเส้นแพคขายปลีกราคา  12 บาท ผู้บริโภคนำไปมวนเองได้จำนวนมวนมากหรือน้อยขึ้นกับปริมาณยาเส้นที่ใช้มวนในแต่ละครั้ง  ในขณะที่บุหรี่ซองมีจำนวน 20 มวนขายราคาปลีกที่  60 บาท ความต่างของราคาจึงห่างกันถึง 5 เท่า 

ผลที่เกิดขึ้นชัดเจน  หลังการประกาศใช้อัตราภาษีแบบใหม่นี้ตั้งแต่กันยายน 2560  คือสิงห์อมควันเปลี่ยนการบริโภคจากบุหรี่มวนไปเป็นยาเส้นซึ่งเป็นสินค้าทดแทนที่ราคาถูกกว่าบุหรี่มาก และยังเข้าถึงได้ง่าย 

“ยาเส้น” จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้อัตราการการบริโภคยาสูบในประเทศไทยลดลงได้ตามเป้าหมายได้  ด้วยการใช้มาตรการภาษีในอัตราที่ใกล้เคียงกับอัตราภาษีบุหรี่    และเป็นปัจจัยที่ยังเป็นตัวปัญหาสำคัญ   ซึ่งปัจจุบัน ศจย.กำลังดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อวางกรอบแนวทางในการปรับขึ้นภาษียาเส้นอย่างเหมาะสมเพื่อนำเสนอให้รัฐบาลต่อไป  โดยศึกษาอย่างรอบด้านถึงผลกระทบที่มีต่อเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ ผู้ผลิต  ผู้นำเข้า  ผู้ค้า และผู้บริโภค  

รศ.ดร. อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์  อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   ระบุว่า ปัจจุบันยาเส้นเสียภาษีต่ำมาก และหลังจากการปรับโครงสร้างภาษียาสูบเมื่อเดือนกันยายน  2560 กรมสรรพสามิตก็ยอมรับว่ามีนักสูบจำนวนหนึ่งที่เปลี่ยนไปสูบยาเส้นแทนบุหรี่มวน  ด้วยปัจจัยด้านราคา   และช่องว่างราคาระหว่างบุหรี่และยาเส้นจะห่างมากขึ้นไปอีกในเดือนตุลาคม 2562 จากการขึ้นภาษีบุหรี่เป็นร้อยละ 40 สำหรับบุหรี่ซองที่ราคาขายปลีกไม่เกินซองละ 60 บาท   นี่คือความจำเป็นที่รัฐบาล ควรเร่งใช้มาตรการภาษีกับยาเส้นให้เป็นรูปธรรมชัดเจนเร็วที่สุด

ทั้งนี้ มีข้อมูลในทางวิชาการระบุว่า  การขึ้นราคาบุหรี่มวน  10 บาทต่อซองสามารถลดการสูบบุหรี่ลงได้ 24% ขณะเดียวกันก็ทำให้มีอัตราการเพิ่มของผู้สูบยาเส้นมวนเองราว 12%  และเพิ่มอัตราผู้สูบทั้งบุหรี่และยาเส้นอีก  12% แสดงให้เห็นว่า  24% ที่ลดลงนั้นไม่ได้มีผลต่อภาพรวมการบริโภคยาสูบแต่อย่างใด  เป็นแต่เพียงการย้ายตลาดการบริโภคเท่านั้น   และจากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในทุกสามปี พบว่า แม้อัตราการบริโภคยาสูบในภาพรวมจะค่อยๆ ลดลง  แต่เมื่อเทียบอัตราผู้สูบบุหรี่และผู้สูบยาเส้นในการสำรวจทุกครั้ง  จำนวนผู้สูบยาเส้นไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ  ยังคงเป็นอัตราร้อยละ 50 ของจำนวนผู้บริโภคยาสูบ โดยตัวเลขล่าสุดปี 2560  ผู้บริโภคยาสูบมีจำนวน 10.7 ล้านคน เป็นผู้สูบยาเส้นมวนเองจำนวน   5.3  ล้านคน    

อย่างไรก็ตาม  นักวิชาการให้ความเห็นว่า ถ้ายาเส้นราคาแพงขึ้นทันทีในคราวเดียวจากมาตรการภาษีให้ใกล้เคียงกับอัตราภาษีบุหรี่  ย่อมส่งผลกระทบต่อบรรดาสิงห์ยาเส้นที่มีรายได้น้อย  ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องกล้าเผชิญ   และเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว  รัฐบาลควรประกาศแผนการขึ้นภาษียาเส้นในระยะ  3-5 ปี เป็นแผนระยะกลางและระยะยาวและเป้าหมายอัตราภาษีที่คิดว่าเหมาะสม  เพื่อให้ผู้บริโภคและผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยาสูบได้เตรียมปรับตัวและวางแผนการจัดการได้    เช่นเดียวกับในปัจจุบันที่รัฐบาลประกาศเรื่องภาษีความหวาน  มัน  เค็ม  เพื่อช่วยดูแลสุขภาพประชาชน   

ด้านนักวิชาการจากประเทศอังกฤษ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการคลัง และการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโครงสร้างภาษีผลิตภัณฑ์ยาสูบ  ดร.นงนุช ตันติสันติวงศ์ ได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากต่างประเทศ ที่มีการปรับอัตราภาษียาเส้นให้ใกล้เคียงกับภาษีบุหรี่มวน ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ  แคนาดา ออสเตรเลีย เป็นต้น  พร้อมกับชี้ว่าไม่มีความจำเป็นหรือเหตุผลที่จะต้องแบ่งยาเส้นออกเป็นแบบปรุงกับแบบไม่ปรุง โดยให้เสียภาษีในอัตราที่ต่างกัน  เพราะไม่ว่าจะเป็นยาเส้นแบบใดต่างก็เป็นสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนเหมือนกัน  

ดังนั้น  ในเบื้องต้นนี้ ไทยควรยกเลิกการแบ่งประเภทยาเส้น  และตามมาด้วยการขึ้นภาษียาเส้นแบบไม่ปรุงให้มีอัตราเท่ากับเท่ากับยาเส้นปรุงเสียก่อน  คือ 1.20 บาทต่อกรัม  จากนั้นในระยะต่อไปจึงค่อยปรับให้อัตราการขึ้นภาษียาเส้นใกล้เคียงกับอัตราภาษีบุหรี่มวน   โดยเสนอให้คิดอัตราภาษีตามน้ำหนักเป็นกรัมทั้งบุหรี่และยาเส้น  และเห็นพ้องว่า รัฐบาลควรจัดทำแผนภาษีเป็นระยะกลางและระยะยาว เพื่อกำหนดอัตราขั้นภาษีที่ชัดเจนสำหรับผลิตภัณฑ์ยาเส้น



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ชาวบ้านเกาะหลักร้อง ‘ผู้ว่าฯประจวบ’ ผวาขอทำเหมืองแร่ในเขตชุมชน...

  ชาวบ้านตำบลเกาะหลัก ประจวบคีรีขันธ์ ร้องผู้ว่าประจวบฯ หลังบริษัททำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรม ขอทำเหมืองแร่ในเขตพื้นที่ชุมชน ชาวบ้านเกรงได้รับค...